ประวัติและความเป็นมาของสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย
The Toxicological Society of Thailand
สืบเนื่องจากการประชุม FAPA ครั้งที่ 8 ณ เมืองเซอูล ประเทศเกาหลี รศ.ดร.ประโชติ เปล่งวิทยา นายกสมาคมเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นรองประธานชั่วคราว Asian Society of Toxicology ซึ่งจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ทางพิษวิทยาที่ประเทศเกาหลีในปี 2527 ดังนั้นท่านจึงได้เชิญนักพิษวิทยาจากสถาบันต่างๆ มาประชุมเพื่อปรึกษาถึงการสร้างสถานภาพของนักพิษวิทยาในประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2525 โดยมี ผศ.ดร.พาลาภ สิงหเสนี เป็นผู้ประสานงานและเลขานุการ จากการประชุมรวม 3 ครั้งของนักพิษวิทยาจำนวน 23 ท่าน (ซึ่งเรียกว่าคณะกรรมการก่อตั้งสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย) ได้มีความเห็นในการสร้างสถานภาพของนักพิษวิทยา ในสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันโดยการจัดให้มีสถาบันกลางในรูปแบบของสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทยขึ้น อันมีข้อสรุปจากการประชุมให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ก่อตั้งชมรมพิษวิทยาแห่งประเทศไทยขึ้นในระยะแรกก่อน เมื่อรวบรวมสมาชิกได้แล้ว จึงก่อตั้งเป็นสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทยขึ้นภายหลัง โดยเร็วที่สุด
2. ดำเนินการร่างข้อบังคับสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย (การร่างข้อบังคับนี้ รศ.ดร.ประโชติ ได้กรุณาดำเนินการแล้วพิจารณาร่วมกันจนกระทั่งอยู่ในแบบร่างที่พร้อมที่จะนำไปยื่นขออนุญาตต่อสันติบาลได้แล้ว)
3. จัดให้มีการแบ่งหน้าที่การทำงานของคณะกรรมการก่อตั้งสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ในรูปแบบของคณะกรรมการบริหารชมรมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย โดยให้มีตำแหน่งหน้าที่ดังต่อไปนี้ กรรมการที่ปรึกษา ประธานฯ รองประธานฯ เลขานุการ เหรัญญิกนายทะเบียน ปฏิคม กรรมการวิชาการ กรรมการประชาสัมพันธ์
4. จัดให้มีการประชุมกึ่งวิชาการของสมาชิก และนักวิชาการในหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชนขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสารพิษในประเทศไทย ซึ่งได้จัดขึ้นราวเดือนพฤษภาคม 2526 ทั้งนี้ให้มีการประชุมใหญ่ของสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทยด้วย ในคราวเดียวกัน
ได้จดทะเบียนในนาม “ สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย” เมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อเสริมสร้างและแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนประสบการณ์ด้านวิชาการ พิษวิทยาในหมู่สมาชิก และผู้สนใจ
2. เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรม และจริยธรรมในหมู่สมาชิก
3. เพื่อส่งเสริมการศึกษา การค้นคว้า วิจัย ในวิชาการพิษวิทยาสาขาต่างๆ
4. เพื่อประสานงานด้านวิชาการกับองค์การทางพิษวิทยา ทั้งในและนอกประเทศ
5. เพื่อรวบรวมพลังสติปัญญาของมวลสมาชิก นำไปใช้ในการส่งเสริมสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของประชาชนที่เกี่ยวกับสารพิษและความเป็นพิษ
6. เพื่อโฆษณาเผยแพร่ความรู้ทางพิษวิทยาให้แก่ประชาชนทุกระดับ
7. เพื่อส่งเสริมให้มีมาตรฐานความปลอดภัยจากสารพิษ และความเป็นพิษ
8. ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง
นายกสมาคมฯจากอดีตถึงปัจจุบัน
1. รศ. นพ. สมพูล กฤตลักษณ์ |
2. รศ.นพ. สมจิตต์ วิริยานนท์ |
3. ศ.ดร. ธีรยุทธ กลิ่นสุคนธ์ |
4. รศ.ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต |
5. รศ.ดร. พาลาภ สิงหเสนี |
6. ศ.ดร. ไมตรี สุทธจิตต์ |
7. ดร. สุมล ปวิตรานนท์ |
8. รศ.ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต |
กิจกรรมของสมาคมที่ช่วยเหลือสังคมจากอดีตถึงปัจจุบัน
1. ผู้แทนในคณะกรรมการระดับชาติได้แก่
1.1 กรรมการความปลอดภัยทางเคมีวัตถุแห่งชาติ
1.2 กรรมการวัตถุอันตราย
1.3 กรรมการอาหารและยา
1.4 กรรมการร่าง พ.ร.บ.ยา
1.5 กรรมการร่าง พ.ร.บ.วัตถุเสพติด
1.6 ผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
2. สมาคมฯเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ The 3 rd International Congress of the Asian Society of Toxicology (ASIATOX III) ระหว่าง 1-6 กุมภาพันธ์ 2547
3. การจัดบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาจากต่างประเทศ เช่นผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกภาคพื้น South East Asia Region เป็นต้น
4. จัดสัมนาวิชาการด้านพิษวิทยาแก่ผู้ประกอบการทางอุตสาหกรรมเช่น เรื่องความต้องการและความพร้อมในการดำเนินการดูแลด้วยความรับผิดชอบอุตสาหกรรมเคมี
5. โครงการอบรมความรู้ด้านพิษวิทยาด้านแก่เจ้าหน้าที่ อบต.บริเวณนิคมอุตลสาหกรรม
6. ร่วมแสดงนิทรรศการในการให้ความรู้ด้านพิษวิทยาในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ผลงานวิจัยเด่นของสมาคม
·การสำรวจความต้องการและความพร้อมในการดำเนินการดูแลด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Care) ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ผลิตสารเคมี
สถานที่ติดต่อปัจจุบัน
สำนักงาน : สถาบันโภชนาการ ม. มหิดล
เลขที่ 25/25 ถ. พุทธมณฑลสาย 4 อ. พุทธมณฑล ต. ศาลายา นครปฐม 73170
โทร. 02-800-2380 ต่อ 119, 311, 328 โทรสาร 02-889-3673
อีเมล: thaitoxhq@gmail.com, thaisocietytox@gmail.com
เว็บไซต์ https://www.thaitox.net